Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเขียนวิจารณ์



ความหมายของการวิจารณ์

          "
วิจารณ์" ถ้าแปลตามรูปศัพท์ หมายถึง การไตร่ตรอง การไตร่ตรอง การตรวจตรา ซึ่งเป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้แทนคำว่า "Criticism" ในภาษาอังกฤษ
คำ "วิจารณ์" นั้นได้มีผู้อธิบายความหมายไว้ต่างๆ กัน แต่จะสรุปความให้เข้าใจง่าย และได้ความหมายมากที่สุด ดังที่ ดร.วิทย์ ศิวศริยานนท์ กล่าวไว้ในหนังสือวรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ว่า
          
การวิจารณ์ที่แท้ คือ การพิจารณาลักษณะของบทประพันธ์ แยกแยะส่วนประกอบที่สำคัญ และหยิบยกออกมาแสดงว่าไพเราะและงดงามเพียงไร วิเคราะห์ความหมายบทประพันธ์นั้น ถ้าความหมายซ่อนเร้นอยู่ ก็ใช้ปัญญาหยั่งให้เห็นทะลุปรุโปร่ง และแสดงให้ผู้อ่านเห็นตาม ถ้าความหมายกระจัดกระจายอยู่ ก็พยายามประติดประต่อให้เป็นรูปเค้าพอที่ผู้อ่านจะเข้าใจได้ แสดงหลักศิลปะและแนวคิดของผู้ประพันธ์ ซึ่งเป็นแนวทางในการเขียนหนังสือนั้น นอกจากนั้น จะต้องเผยให้เห็นความสำคัญระหว่างส่วนประกอบต่าง ๆ ของงานนั้น และชี้ให้เห็นด้วยว่า แต่ละส่วนนั้นมีความสำคัญต่อส่วนรวมเพียงใด รวมความว่า การวิจารณ์คือ การแสดงให้เห็นว่า หนังสือนั้นมีลักษณะอย่างไร ทั้งในส่วนเนื้อเรื่อง ความคิดเห็น และทำนองแต่ง เมื่อได้อธิบายลักษณะของหนังสือให้ผู้อ่านเข้าใจแล้ว จึงวินิจฉัยลงไปว่า หนังสือนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ควรจัดเข้าไว้ในชั้นไหน (วิทย์ ศิวศริยานนท์. ๒๕๑๘ : ๒๑๗-๒๑๘)

 
ขั้นตอนของการวิจารณ์
ในการเขียนวิจารณ์นั้น เราอาจแบ่งได้เป็น ๓ ขั้นตอนดังนี้ คือ การสรุปแนวคิดและสาระของเรื่อง การวิเคราะห์กลวิธีการแต่ง และการประเมินคุณค่า

๑. การสรุปแนวคิดและสาระของเรื่อง แนวคิดของเรื่อง คือ แก่นหรือจุดสำคัญของเรื่องซึ่งเป็นหลัก เป็นแกนกลางของเรื่องนั้น เราสามารถจะหาได้ จากการศึกษาส่วนประกอบอื่น ๆ ของเรื่องสั้น เช่น โครงเรื่อง ภาษา ฉาก ตัวละคร บทสนทนา เป็นต้น ข้อสังเกต คือ แนวเรื่องนี้มักมีความสำคัญ เชื่อมโยงกับ ชื่อเรื่อง ดังนั้นสำหรับผู้วิจารณ์ที่เพิ่งหัด อาจจะใช้ชื่อเรื่องของงานวิจารณ์เป็นแนวสังเกตของเรื่องได้ด้วย ส่วนสาระของเรื่องนั้น คือ เนื้อหาอย่างคร่าวซึ่งไม่ใช่การย่อความ เนื่องจากผู้วิจารณ์สามารถนำข้อความ ตลอดจนคำพูดของตัวละครในเรื่องที่วิจารณ์ มาเขียนประกอบไว้ ในสาระของเรื่องได้ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
๒. การวิเคราะห์กลวิธีการแต่ง ขั้นที่ ๒ นี้ เป็นการใช้เทคนิคและศิลปะอันเป็นความรู้ และฝีมือที่ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดความรู้และ อารมณ์สะเทือนใจ มาสู่ผู้อ่าน เช่น การใช้คำ การใช้ภาพพจน์ การใช้โวหาร อุปมาอุปไมย เป็นต้น ศิลปะในการใช้ภาษาในแบต่างๆ นี้ ผู้วิจารณ์สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับ งานวิจัยนั้น ๆ เพื่อที่จะสื่อความเข้าใจและอารมณ์มาสู่ผู้อ่านได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
          
นอกจากกลวิธีการแต่ง และศิลปะการใช้ภาษาดังกล่าวแล้ว อาจจะใช้ศิลปะการสร้างเรื่อง อาจแยกได้เป็นการเขียนโครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก ฯลฯ ซึ่งศิลปะการสร้างเรื่องนี้ มักใช้ในงานเขียนที่เป็นเรื่อง เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร เป็นต้น
๓. การประเมินคุณค่า เป็นขั้นสุดท้ายของการวิจารณ์ เมื่อผู้วิจารณ์ได้ศึกษาการเขียนในขั้นตอนที่ ๑ และขั้นตอนที่ ๒ แล้ว ผู้วิจารณ์สามารถ แสดงความคิดของตน อย่างมีเหตุผลได้อย่างเต็มที่ เพื่อประเมินคุณค่าของงานเขียนนั้น การประเมินคุณค่าทางงานเขียนแบ่งได้เป็น
๓.๑ ด้านความคิดริเริ่ม งานเขียนบางเรื่องอาจจะไม่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์เด่น แต่เป็นงานเขียนที่มีความคิดริเริ่มก็มักจะได้รับการยกย่อง ดังจะเห็นได้จากเรื่อง "ความพยาบาท" ของ แม่วัน ได้รับการยกย่อง เพราะเป็นหนังสือนวนิยายเล่มแรก ที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศ หรือสุนทรภู่คิดแต่งกลอนแปด ที่มีสัมผัสในแพรวพราวจนเป็นที่นิยมกันมาจนถึงปัจจุบัน ก็ได้รับการยกย่องความคิดริเริ่มนั้น หรือพระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่งเรื่อง "ระเด่นรันได" ล้อเลียนภาพสังคมในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งกวีในสมัยก่อนน้อยคนนักจะกล้าทำ ท่านก็ได้รับการยกย่องที่มีความคิดริเริ่มเช่นนั้น เป็นต้น
๓.๒ ทางด้านวรรณศิลป์ คือ การประเมินคุณค่าทางด้านศิลปะการใช้ภาษาและการสร้างเรื่อง ศิลปะการใช้ภาษานี้ถ้าได้ศึกษาอย่างละเอียด ก็สามารถทราบความสามารถของผู้แต่งในเรื่องการเลือกใช้คำ ว่ามีความไพเราะและสื่อความหมายได้เหมาะสม จนสามารถ โน้มน้าวผู้อ่าน ให้เกิดความคิดเห็นคล้อยตาม ตลอดจนเกิดอารมณ์สะเทือนใจได้ตรงตามจุดประสงค์ของผู้แต่งเพียงใด
          
ศิลปะการสร้างเรื่องนี้ ถ้าส่วนประกอบของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น โครงเรื่อง บทสนทนา ตัวละคร ฉาก ฯลฯ มีการประสานกลมกลืนกันอย่างงดี และมุ่งให้ผู้อ่านเกิดความคิดไปสู่แนวทางที่เป็นเป้าหมายของเรื่องแล้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องที่มีศิลปะการสร่างเรื่องที่สมเหตุสมผล สามารถให้ผู้อ่าน เข้าถึงอารมณ์สะเทือนใจได้ จึงถือเป็นศิลปะที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ได้ด้วย
๓.๓ คุณค่างานที่มีต่อสังคม งานเขียนเป็นสิ่งที่คนในสังคมสร้างขึ้นมา ฉะนั้นผลของงานเขียนที่มีต่อสังคมจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าควรศึกษา อันได้แก่
๓.๓.๑ คุณค่าทางด้านความเพลิดเพลิน เป็นคุณค่าหนึ่งที่สำคัญ เพราะจะเป็นสื่อนำผู้อ่านให้เกิดความสนใจเรื่อง เป็นการชักจูงขั้นต้น ฉะนั้นงานเขียนใดมีแต่สาระไม่มีความเพลิดเพลินแฝงไว้สำหรับผู้อ่าน ผู้อ่านมักจะไม่สนใจอ่านตั้งแต่ต้น งานเขียนนั้นก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ผู้แต่งตั้งไว้ได้เลย
๓.๓.๒ คุณค่าทางด้านความคิด เป็นคุณค่าที่เกิดจาดอิทธิพลความคิดเห็นของผู้แต่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในงานเขียน อันมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้อ่านในสังคมนั้น ทั้งนี้อาจจะรวมถึงอิทธิพลที่ผู้แต่งได้รับมาจากสังคมด้วยก็ได้ คุณค่าทางด้านความคิดนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานเขียนมีคุณค่ามากขึ้น
การประเมินคุณค่าทางงาน เขียนนั้น ถ้ามีเพียง ๒ ส่วนประกอบกันอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้งานเขียนนั้นเด่นขึ้น จึงนับว่าคุณค่าทั้ง ๒ ประการเป็นคุณค่าที่มีความสำคัญซึ่งกันและกัน

หลักในการวิจารณ์งานเขียนเฉพาะประเภท

          
งานเขียนแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะของตนเอง การศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในที่นี้ จะแบ่งออกเป็น งานร้อยกรองบทสั้นและงานเขียนที่เป็นเรื่อง ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนี้
๑. งานร้อนกรองบทสั้น ในที่นี้คือ งานร้อยกรรองที่ผู้เขียนไม่ได้ผูกเป็นเรื่องยาว แต่เป็นร้อยกรองที่กวีประพันธ์ขึ้น เพื่อสื่อความหมายสั้น ๆ หรือเป็นบทร้อยกรอง ที่คัดตัดตอนออกมาจากงานร้อยกรองที่เป็นเรื่องขนาดยาว หลักในการวิเคราะห์อาจแบ่งได้ดังนี้

๑.๑ ฉันทลักษณ์ การศึกษาฉันทลักษณ์อาจจะช่วยชี้แนะแนวทางของความต้องการของผู้เขียนหรือกวีได้บ้าง เนื่องจากจังหวะของฉันทลักษณ์ย่อมจะนำผู้อ่านให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ได้เช่นเดียวกับเสียงดนตรี เช่น "โครงสี่สุภาพ" ผู้เขียนมักจะใช้เมื่อต้องการใช้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสง่างาม ส่วน "กลอน" "กาพย์ยานี" ผู้เขียนมักใช้เมื่อต้องการให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอ่อนหวาน เรียบง่าย เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า ฉันทลักษณ์เพียงอย่างเดียวจะสามารถแบ่งชัดอารมณ์ที่แท้จริงของบทร้อยกรองได้เสมอไป
๑.๒ ความหมาย นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่เราต้องศึกษาให้ทราบแน่ชัดลงไปว่าบทร้อยกรองที่วิจารณ์นั้นกล่าวถึงเรื่องอะไร ในขั้นนี้ผู้วิจารณ์จะต้องศึกษาความหมายของคำในบทร้อยกรองให้ละเอียด เพื่อจะได้ตีความหมายของบบทร้อยกรองนั้น ๆ ได้ถูกต้องที่สุด
๑.๓ น้ำเสียง เป็นสื่อให้ผู้อ่านทราบถึงความคิดของผู้เขียนว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่กล่าวถึง
๑.๔ จุดมุ่งหมายของผู้เขียน เมื่อเราศึกษาบทร้อยกรองเพื่อวิจารณ์ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การศึกษาจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ทั้งที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด และทั้งที่เราวิเคราะห์ได้เองจากภาษา น้ำเสียง และลีลาของบทร้อยกรองนั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยชี้แนะให้เราทราบจุดมุ่งหมายของผู้เขียนได้ แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้บอกออกมาตรงๆ
๒. งานเขียนที่เป็นเรื่องทั้งบทร้อยกรองและร้อยแก้ว งานเขียนที่เป็นเรื่อง หมายถึง งานเขียนที่ผูกเป็นเรื่อง มีตัวละคร ฉาก ไม่ว่างานนั้นจะเป็นร้อยแก้ว เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย ร้อยกรอง บทละคร เมื่อวิจารณ์งานเขียนประเภทนี้ทั้งเรื่องก็จะมีหลักที่จะเป็นแนววิเคราะห์ได้ดังนี้ คือ
๒.๑ โครงเรื่อง คือ การกำหนดการดำเนินเรื่อง ว่าเริ่มต้นอย่างไร ดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านเข้าใจ แล้วสนใจเรื่องได้อย่างไร ตลอดจนให้เรื่องนั้นสิ้นสุดลงในรูปแบบไหน ระยะแรกของงานเขียนเป็นส่วนของเรื่องที่นำผู้อ่านเข้าสู่จุดความสนใจสูงสุดของเรื่อง ระยะที่สอง เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของเรื่อง คือส่วนที่เป็นจุดสนใจสูงสุดของเรื่อง และระยะที่สาม คือ ระยะคลายความสนใจของเรื่องจนจบ ระยะที่สามนี้มีหลายรูปแบบคือ ระยะคลายความสนใจ อาจยืดเยื้อออกไปอีกเล็กน้อย หรืออาจจะจบลงอย่างทันที ถ้าจุดคลายความสนใจยืดเยื้อมากเกินไป จะทำให้ผู้อ่านไม่สนใจเรื่องอีกต่อไป จุดสนใจสูงสุดของเรื่องอาจมีได้หลายครั้ง ถ้าเป็นเรื่องยาวมาก ๆ เพราะบางเรื่องมีลักษณะเป็นเรื่องหลายตอนมาเขียนผูกกันให้เป็นเรื่องยาว โดยใช้ตัวละครชุดเดิม
๒.๒ ฉาก คือ สถานที่ที่ผู้เขียนตัวละครดำเนินชีวิต ผู้วิจารณ์จำเป็นต้องศึกษาว่า มีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่องและกาลเวลาในเรื่องอย่างไร และมีส่วนให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้เพียงใด
๒.๓ ตัวละคร เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรื่องน่าสนใจ มีชีวิตชีวา การวิเคราะห์ตัวละคร ต้องศึกษาว่า ตัวละครแต่ละตัวมีบทบาทอย่างไร มีการพัฒนานิสัยเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร โดยศึกษาได้จากการกระทำของตัวละคร คำพูดของตัวละครที่สนทนากัน และปฏิกิริยาของตัวละครอื่นที่มีต่อตัวละครที่เราวิจารณ์ ถ้าเราศึกษาตัวละครไปอย่างละเอียด เราก็จะทราบได้ว่าตัวละครที่นักเขียนสร้างขึ้น มีความสมจริงและสอดคล้องกับเหตุการณ์ในท้องเรื่องอย่างไร
๒.๔ เทคนิคการเขียน เป็นวิธีการที่ผู้เขียนใช้นำผู้อ่านเขข้าสู่เป้าหมายของเรื่องได้ นอกเหนือจากโครงเรื่อง ฉาก และตัวละคร เทคนิคใหม่ ๆ คือ
๒.๔.๑ บทสนทนา ในงานเขียนที่เป็นเรื่อง และมีตัวละคร จำเป็นต้องมีบทสนทนาที่ตัวละครจะพูดโต้ตอบกัน คำพูดนั้นจะต้องเหมาะสมกับสมัยที่เรื่องนั้นเกิดขึ้น และต้องเหมาะสมกับฐานะและสภาพของบุคคลในท้องเรื่อง
๒.๔.๒ วิธีการบรรยายเรื่อง วิธีการบรรยายเรื่องมีหลายวิธี วิธี หนึ่งคือ ผู้เขียนแสดงตนเป็นเหมือนพระเจ้า กำหนดและล่วงรู้ความรู้สึก ตลอดจนพฤติกรรมของตัวละคร แล้วถ่ายทอดให้ผู้อ่านทราบ อีกวิธีหนึ่งคือ ให้ผู้เขียนเข้าไปอยู่ในเรื่อง และเป็นผู้เรื่องที่ผ่านมาสู่ผู้อ่าน บางครั้งผู้บรรยายนี้อาจจะเป็นตัวละครเอกของเรื่อง หรือตัวละครที่มีบทบาทรองลงไป หรือเป็นตัวละคร ที่ไม่มีบทบาทในเรื่อง แต่เป็นบุคคลที่ เผอิญเข้ามามีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์ จึงเขียนให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวนั้นๆ อีกวิธีหนึ่งคือ ผู้เขียนจะไม่แสดงตนอย่างเด่นชัด แต่ผู้อ่านจะทราบ ความเป็นไปของเรื่องได้จากการสังเกตพฤติกรรมของตัวละคร วิธีการบรรยายเรื่องนี้มีส่วนเชิญชวนให้เรื่องน่าสนใจได้ ถ้าผู้เขียน ใช้ให้เหมือนเนื้อเรื่อง
๒.๔.๓ อิทธิพลของเรื่อง งานเขียนส่วนใหญ่มักได้รับอิทธิพลทางความคิดหรือกลวิธีการสร้างเรื่องจากประสบการณ์ชีวิต หรืออิทธิพลจาก เรื่องอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สภาพแวดล้อมและสังคมที่นักเขียนมีชีวิตอยู่ เพราะงานเขียนทุกเรื่องก็คือ ส่วนหนึ่งของภาพสะท้อน ของสังคมในแต่ละยุคสมัย นอกจากจะศึกษาอิทธิพลที่งานเขียนนั้นรับมาแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรศึกษา อิทธิพลที่งานนั้นมีต่อ งานเขียนผู้อื่นและ ผู้อ่านด้วย
          
ข้อที่น่าพิจารณาในทุกขั้นตอน คือ ความสมจริงของเรื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก และเทคนิคการเขียนอื่นๆ สมจริงกับชีวิตอย่างไร เพียงใด ตลอดจนการศึกษาแง่คิดหรือทัศนคติของผู้เขียนเรื่องนั้นด้วย เพื่อจะได้ทำให้งานเขียนวิจารณ์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คัดลอกมาจาก  http://elearning.spu.ac.th/content/thi114/write8.html

2 ความคิดเห็น:

  1. ครูอ่านที่เราเม้มมาแล้ว
    ดีมาก.....มันไม่ขึ้นก็เพื่อไม่ให้เพื่อนคนอื่นอ่าน

    ตอบลบ
  2. ทดลองเม้มครั้งแรกครับ ฮาโหล ฮาโหล เทส์ทๆ
    A B C ก ข ค 1 2 3

    ^0^

    ตอบลบ