Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การร้อยเรียงประโยค


การร้อยเรียงประโยค
การแสดงความคิดเพื่อสื่อสารกันนั้น บางโอกาสผู้ส่งสารใช้ประโยคที่ผูกขึ้นให้รัดกุมและถูกต้องตามระเบียบของภาษาเพียงประโยคเดียวก็สื่อความหมายได้ชัดเจนเช่น คำขวัญที่ว่า ตัวตายดีกว่าชาติตายหลักการร้อยเรียงประโยคและวิธีวิเคราะห์การร้อยเรียงประโยคนักเรียนต้องมีความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของประโยค    ลำดับคำในประโยค   ความยาวของประโยคและเจตนาของผู้ส่งสารในประโยค
ส่วนประกอบของประโยค
ประโยคมีส่วนประกอบสำคัญ ๒ ส่วนคือ ภาคประธานและภาคแสดง เช่นผู้หญิงชอบน้ำหอม
ภาคประธาน
ภาคแสดง
ผู้หญิง
ชอบน้ำหอม
โดยปกติ ภาคประธานเป็นส่วนที่ผู้ส่งสารมักกล่าวถึงก่อน  ส่วนภาคแสดงนั้นเป็นส่วนที่บอกว่าสิ่งที่กล่าวถึงนั้นทำอะไร  อยู่ในสภาพใด หรือเป็นอะไร ผู้พูดอาจเพิ่มรายละเอียดเข้าไปในประโยคโดยเพิ่มคำบางคำ เช่น  ผู้หญิงคนนั้นชอบน้ำหอมราคาแพง  หรืออาจเพิ่มประโยคเข้าไปทั้งประโยคทำให้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ผู้หญิงที่อยู่ในห้องสีขาวชอบน้ำหอมที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ  ประโยคที่เพิ่มขึ้นอาจสัมพันธ์กับประโยคเดิมโดยมีคำเชื่อม และ  ถ้า  แต่ หรือ  จึง ฯลฯ
เช่น  ผู้หญิงชอบน้ำหอมส่วนผู้ชายชอบโคโลญจน์ 
ประโยคบางคู่ ประธานและ/หรือ  กรรมหรือกริยา  หรือส่วนขยายต่างกัน  เช่น
                ๑.            ก.   เขาฟังเพลงอย่างตั้งใจ
                                ข.   เขาฟังเพลงด้วยความตั้งใจ
                ๒.          ก.  หลักเกณฑ์การให้คะแนนมีมาก
                                ข. การให้คะแนนมีหลักเกณฑ์มาก
                ๓.          ก. แม่ชมเชยเขามาก
                                ข.  เขาได้รับการชมเชยจากแม่มาก
ตัวอย่างที่ ๑ ประโยค ก และ ข ต่างกันที่ส่วนขยาย      
ตัวอย่างที่ ๒  ประธานของประโยค ก กับประโยค ข  ต่างกัน และประโยค ก ไม่มีกรรม  ประโยค ข มีกรรม
ตัวอย่างที่ ๓  ประธาน  กริยา  กรรม ของประโยค ก กับประโยค ข ต่างกัน  
                ประโยคบางคู่ มีความซับซ้อนต่างกัน เช่น
                ๑.           ก.  เขาไม่ซื้อของถูก
                   ข. เขาไม่ซื้อของที่มีราคาถูก
                ๒.         ก. เรื่องนี้ทุกคนรู้อยู่แล้ว
                                ข. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว
                ประโยค ก ในตัวอย่างที่ ๑ และสองมีคำจำกัดความหมายคือ  ถูก  และ  นี้ ส่วนประโยค ข ใน ตัวอย่างที่ ๑ และ ๒ มีประโยคช่วยจำกัดความหมายคือ  ที่มีราคาถูก  และที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว
                ในบางกรณีผู้พูดอาจแสดงความคิดอย่างเดียวกันโดยใช้ประโยคหลาย ๆ ประโยคก็ได้  หรือรวมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกันโดยใช้คำเชื่อมก็ได้ หรือทำให้กลายเป็นส่วนประกอบของอีกประโยคหนึ่งก็ได้
                ลำดับคำในประโยค
                การเรียงลำดับคำในภาษาไทยมีความสำคัญมาก เพราะถ้าลำดับคำต่างกันความสัมพันธ์ของคำในประโยคอาจผิดไป ทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไปได้ เช่น ฉันช่วยเธอ  และ เธอช่วยฉัน ผู้ทำและผู้ถูกกระทำจะต่างกัน ประโยคบางประโยคที่เปลี่ยนลำดับคำแล้วมีความหมายเปลี่ยนไปน้อยมากเช่น  เขาเป็นญาติกับตุ้ม  และตุ้มเป็นญาติกับเขา บางประโยคอาจเปลี่ยนลำดับคำที่หลากหลายโดยที่ความหมายยังคงเดิมเช่น
                เขาน่าจะได้พบกับเธอที่บ้านคุณพ่อคุณอย่างช้าพรุ่งนี้
                เธอน่าจะได้พบกับเขาที่บ้านคุณพ่อคุณอย่างช้าพรุ่งนี้
                พรุ่งนี้อย่างช้าเธอน่าจะได้พบกับเขาที่บ้านคุณพ่อคุณ
จะพบว่าทุกประโยคสื่อความหมายอย่างเดียวกันทำให้ทราบว่าผู้พบกันคือ เขากับเธอ สถานที่ที่พบคือ  บ้านคุณพ่อคุณ  และเวลาที่พบคือ  พรุ่งนี้เป็นอย่างช้า
                ความยาวของประโยค
                ประโยคอาจมีความแตกต่างกันที่ความสั้นยาว  ประโยคจะยาวออกไปได้เมื่อผู้พูดเพิ่มราละเอียดให้มากขึ้น รายละเอียดที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่  เวลาที่เกิดเหตุการณ์  ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ ฯลฯ นอกจากนั้นอาจเพิ่มความยาวของประโยคโดยหาคำขยายคำนามหรือกริยาในประโยคก็ได้
                เจตนาของผู้ส่งสาร
                เราอาจแบ่งประโยคตามเจตนาของผู้ส่งสารที่แสดงในประโยค ๆด้เป็น ๓ ประเภทคือ
                ๑.ประโยคแจ้งให้ทราบ  คือประโยคที่ผู้พูดบอกกล่าวหรือแจ้งเรื่องราวบางประการให้ผู้ฟังทราบ  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าประโยคบอกเล่า เช่น  นักเรียนบางคนชอบร้องเพลง  ถ้าประโยคแจ้งให้ทราบ        มีเนื้อความปฏิเสธ ก็จะมีคำปฏิเสธ เช่น  ไม่  มิ  หามิได้  อยู่ด้วยดังประโยค  นักเรียนบางคนไม่ชอบร้องเพลง 
                ๒.ประโยคถามให้ตอบ  คือ  ประโยคที่ผู้พูดใช้ถามเรื่องราวบางประการเพื่อให้ผู้ฟังตอบสิ่งที่ผู้พูดอยากรู้ หรือเรียกอีกอย่างว่าประโยคคำถาม ถ้าประโยคคำถามมีเนื้อความปฏิเสธ ก็จะมีคำปฏิเสธอยู่ด้วย
เช่น  ใครอยากไปเที่ยวบ้าง   เนื้อความปฏิเสธ    ใครไม่อยากไปเที่ยวบ้าง
                ๓.ประโยคบอกให้ทำ คือ  ประโยคที่ผู้พูดใช้เพื่อให้ผู้ฟังกระทำอาการบางอย่างตามความต้องการของผู้พูด เรียกว่าประโยคบอกให้ทำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าประโยคคำสั่งหรือขอร้อง   ประธานของประโยคบอกให้ทำบางทีก็ไม่ปรากฏประธาน ถ้าผู้พูดต้องการเน้นคำกริยา และท้ายประโยคบอกให้ทำมักจะมีคำอนุภาค เช่น ซิ  นะ  เถอะ
หลักทั่วไปในการร้อยเรียงประโยค

ประโยคที่ร้อยเรียงกันอยู่นั้น  ทั้งเนื้อความและลักษณะของถ้อยคำในประโยคจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน  เนื้อความในประโยคคือความคิดของผู้นำเสนอ  จะต้องมีลำดับและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  หรือที่เรียกเป็นศัพท์เฉพาะทางวิชาการว่ามีเอกภาพ  ส่วนลักษณะถ้อยคำที่ทำให้ประโยคเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันอาจเกิดจากวิธีต่าง ๆ ได้แก่  การเชื่อม  การแทน  การละและ การซ้ำ

การเชื่อม
การเชื่อมประโยคให้ต่อเนื่องกัน อาจใช้คำเชื่อมหรือเรียกว่า คำสันธาน หรือใช้กลุ่มคำเชื่อม หรือที่เรียกว่า สันธานวลี  ประกอบด้วย ข้อต่าง ๆดังนี้
๑. คำสันธานบางคำและสันธานวลีบางวลีแสดงว่า ประโยคหน้าและประโยคหลังมีเนื้อความ   คล้อยตามกัน เช่น  และ  ทั้ง  อนึ่ง  อีกประการหนึ่ง อีกทั้ง  รวมทั้ง  ตัวอย่างเช่น    ฉันตัดสินใจเรียนหนังสือและทำงานไปด้วย
๒. คำสันธานบางคำและสันธานวลีบางวลีแสดงว่า ประโยคหน้าและประโยคหลังมีเนื้อความขัดแย้งกัน เช่น  แต่  แต่ทว่า  แม้  แม้แต่  แม้ว่า  ตัวอย่างเช่น  ตำรวจรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว แต่ ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ
๓. คำสันธานบางคำและสันธานวลีบางวลีแสดงว่า ประโยคหน้าและประโยคหลังมีเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  หรือ  หรือไม่ก็ ตัวอย่างเช่น  เธอจะอยู่กับเขาหรือเธอจะไปกับฉัน
๔. คำสันธานบางคำและสันธานวลีบางวลีแสดงว่าประโยคหน้าและประโยคหลังมีเนื้อความเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น จึง  เลย  จน  จนกระทั่ง ตัวอย่างเช่น             เขาทำงานอย่างหนักสุขภาพจึงทรุดโทรม
๕. คำสันธานบางคำและสันธานวลีบางวลีแสดงว่าประโยคหน้าและประโยคหลังมีเนื้อความเกี่ยวข้องกันทางเวลา  เช่น  แล้ว  แล้วจึง  และแล้ว  ต่อจากนั้น  ต่อมา ตัวอย่างเช่น  เขามางานเลี้ยงในตอนเช้าต่อจากนั้นตอนบ่ายเขาก็กลับบ้าน
 ๖.คำสันธานบางคำและสันธานวลีบางวลีแสดงว่าประโยคหน้าและประโยคหลังมีเนื้อความเกี่ยวข้องกันในแง่ที่เป็นเงื่อนไข เช่น ถ้า   ถ้า...แล้ว   แม้ว่า  หากว่า  เมื่อ...ก็   หาก...ก็   ตัวอย่างเช่น  ถ้าเรามีความขยันอย่างแท้จริงเราก็ไม่สอบตก







การซ้ำ
หากประโยค ๒ ประโยค มีส่วนกล่าวถึงบุคคล  สิ่ง  เหตุการณ์  การกระทำหรือสภาพเดียวกัน  ประโยคทั้งสองมักจะมีคำหรือวลีที่หมายถึงบุคคล  สิ่ง  เหตุการณ์  การกระทำหรือสภาพนั้น ๆ ปรากฏซ้ำ ๆ การซ้ำคำหรือวลีจึงแสดงความเกี่ยวข้องของประโยคได้ เช่น 
ฉันวางกระเป๋ากับร่มไว้บนโต๊ะ ประเดี๋ยวเดียวกระเป๋าหายไปแล้วร่มยังอยู่
ประโยคหน้าและประโยคหลังกล่าวถึงสิ่งเดียวกันคือ กระเป๋ากับร่มจึงมีคำ กระเป๋ากับร่มซ้ำกัน
หมายเหตุ
๑. ในกรณีที่มีคำซ้ำกันเช่นนี้ คำที่ซ้ำอาจมีคำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะ(นิยมวิเศษณ์) นี้  นั้น  โน้น  นี่  นั่น  มาขยาย เพื่อชี้เฉพาะว่าเป็นสิ่งที่กล่าวถึงไปแล้ว  เช่น
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทยคือบริเวณเมืองอู่ทอง  ในจังหวัดสุพรรณบุรี  นักโบราณคดีหลายท่านเชื่อว่าบริเวณนี้  น่าจะเป็นศูนย์กลางดั้งเดิมของอาณาจักรฟูนัน
ประโยคหน้าและประโยคหลังกล่าวถึงสิ่งเดียวกัน คือบริเวณนี้เป็นแหล่งโบราณคดี  จึงมีคำว่า บริเวณ ซ้ำกันและมีคำ  นี้  ขยายบริเวณ ในประโยคหลังเพื่อช่วยระบุว่าเป็นบริเวณเดียวกันกับที่กล่าวในประโยคแรก
๒. หากคำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะใช้ขยายคำในประโยคหน้าอยู่แล้ว คำที่อยู่ในประโยคหลังมักจะไม่มีคำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะขยาย เช่น
เด็กคนนี้ มูลนิธิรับผิดชอบค่าเล่าเรียนแม่ของเด็กรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ประโยคหน้าและประโยคหลังมีส่วนกล่าวถึงคนคนเดียวกันและการกระทำเดียวกันจึงมีคำนาม เด็กซ้ำกัน คำว่านี้ขยายคำว่า เด็ก ในประโยคหน้าอยู่แล้วจึงไม่ใช้ในประโยคหลังและมีคำกริยา รับผิดชอบซ้ำกัน
๓. คำที่ขยายคำที่ซ้ำกันนั้น นอกจากคำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะแล้ว อาจมีคำชนิดอื่นอีกบ้าง
การละ
ในบางกรณีเมื่อประโยคหน้าและประโยคหลังมีส่วนกล่าวถึงบุคคล สิ่ง เหตุการณ์ การกระทำ หรือสภาพเดียวกัน อาจไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำ   เช่น
คนขับรถ  กระโดดลงจากรถ  ฉวยกระเป๋าได้  รีบเดินเข้าบ้าน
ประโยคหน้าและประโยคต่อ ๆไป กล่าวถึงบุคคลเดียวกัน คือ คนขับรถ คำนาม คนขับรถเป็นประธานในประโยคหลังด้วยแต่ละไว้
การแทน
ในกรณีที่ผู้พูดหรือผู้เขียนไม่ต้องการใช้วิธีซ้ำหรือวิธีละเมื่อกล่าวถึงบุคคล สิ่ง เหตุการณ์ การกระทำ หรือสภาพเดียวกัน ก็อาจใช้วิธีนำคำหรือวลีอื่นมาแทน การใช้คำหรือวลีอื่นมาแทนจึงแสดงความเกี่ยวเนื่องกันของประโยค เช่น
ลูกชายของหญิงชรา  จากบ้านไปนานแล้ว  เขา อาจเสียชีวิตไปแล้วก็ได้
ประโยคหน้าและประโยคหลังกล่าวถึงบุคคลคนเดียวกันคือ ลูกชายของหญิงชรา   คำสรรพนาม เขา ในประโยคหลัง หมายถึง ลูกชายของหญิงชรา  ที่กล่าวถึงในประโยคหน้า
วิเคราะห์การร้อยเรียงประโยค
วิธีทำให้ประโยคเกี่ยวข้องกันทั้งการเชื่อม  การซ้ำ  การละ และการแทนดังที่กล่าวมาข้างต้น อาจนำไปวิเคราะห์ข้อเขียนที่ปรากฏในที่ต่าง ๆได้ การวิเคราะห์จะทำให้เราเข้าใจความหมายของข้อเขียนอย่างแจ่มแจ้ง และยังเป็นแนวทางในการฝึกทักษะการร้อยเรียงประโยคด้วย
ตัวอย่าง 
ลีซอ เป็นชาวเขาที่มีบุคลิกภาพงดงาม  มีผิวกายค่อนข้างขาว มีร่างระหงและใบหน้าเป็นรูปไข่  ชาวเขาเผ่านี้  ยังชีพด้วยการปลูกข้าว  ปลูกข้าวโพด  และฝิ่น  ลีซอ  ส่วนใหญ่ไม่สูบฝิ่น ในบรรดาหนุ่มลีซอนั้น หาคนติดฝิ่นแทบไม่ได้เลย
ประโยคแรกกล่าวถึงชาวเขาเผ่าลีซอ  ประโยคที่เหลือทั้งหมดมีเนื้อความเกี่ยวกับชาวเขาเผ่านี้  แต่ประโยคที่ ๒ และ ๓ ใช้วิธีไม่เอ่ยชื่อ  ประโยคที่ ๔ ใช้วลี  ชาวเขาเผ่านี้  แทน  ประโยคที่ ๕ ใช้การซ้ำคำว่า ลีซอ  และประโยคที่ ๖ ใช้วลี หนุ่มลีซอนั้น เพื่อจำกัดความหมายให้แคบเข้าว่าหมายถึงเฉพาะชายหนุ่มเผ่าลีซอเท่านั้น

2 ความคิดเห็น: